วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

นอนให้ถูกท่ากายาปลอดโรค

“โรคปวดหลังและคอเกิดได้ในทุกอาชีพ อาการปวดค่อยเป็นค่อยไป เช่น มีอาการปวดบริเวณคอจะเจ็บแปล๊บไปที่แขน ปวดเอวเจ็บแปล๊บไปที่ขา และหากเป็นต่อเนื่องโดยรับการรักษาทั้งยากิน ยาทา แล้วยังไม่หายใน 3 สัปดาห์ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้วิธีการผ่าตัดในการรักษา ซึ่งมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ทั้งจุดเดิมที่เคยปวด และจุดอื่น หากผู้ป่วยยังไม่ปรับเปลี่ยนกิจวัตรในการเคลื่อนไหว”ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมกระดูกสันหลัง กล่าว

นอนอย่างไรให้ดีกับสุขภาพ......

การนอน เป็นสาเหตุให้เกิดการปวดหลังและคอได้อย่างหนึ่ง เพราะร่างกายเราต้องนอนวันละ 6-8 ชั่วโมง อุปกรณ์ในการนอนจึงสำคัญมาก ทั้งที่นอน หมอนหนุน ต้องไม่นุ่มหรือแข็งเกินไป ควรเลือกให้พอดี เช่น หมอนควรเลือกที่มีความสูงระดับไหล่ในขณะที่หนุน และใช้ช่วงต้นคอและศีรษะหนุนเพื่อให้หมอนรองกระดูกอยู่ในท่าที่ตรงแนบกับที่นอน
 
การนอนหงายที่ถูกวิธีควรหนุนหมอนที่ไม่สูงหรือต่ำเกินกว่าระดับไหล่ และใช้หมอนข้างรองช่วงข้อพับบริเวณหัวเข่า หรือเบาะรองนั่งรองจนถึงปลายเท้า เพื่อจัดร่างกายให้อยู่ในท่าที่หมอนรองกระดูกตั้งแต่คอถึงบั้นเอวได้นอนแนบ กับที่นอนโดยที่กล้ามเนื้อไม่เกร็งหรืองอตัว

 
ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมกระดูกสันหลัง บอกอีกว่า ท่านอนคว่ำเป็นท่าที่ควรหลีกเลี่ยง แต่หากจะต้องนอนคว่ำควรใช้หมอนบางๆ รองช่วงท้อง ไม่ควรรองบนศีรษะ รวมถึงไม่ควรนอนอ่านหนังสือ นอนดูทีวี เพราะหมอนรองกระดูกบริเวณต้นคอจะต้องตั้งขึ้น และทำให้เกิดอาการปวดคอและหลังตามมาในที่สุด

ท่านอนตะแคงที่ถูกต้อง ควรมีหมอนข้างสำหรับรองรับช่วงขาและแขน เพราะหากไม่มีหมอนข้างรอง มีโอกาสสูงมากที่กล้ามเนื้อบริเวณกระดูกสันหลังช่วงบั้นเอวถึงช่วงสะโพกเกิด การเกร็งตัว และมีอาการปวดตามมา

ไม่เจ็บ ไม่ปวด ไม่เมื่อย สุขภาพร่างกายดี ชีวิตก็สดใส

ขอบคุณข้อมูลจากมูลนิธิสุขภาพไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น